ทฤษฎีประชากรใหม่ของหม่าหยินชู

ทฤษฎีประชากรใหม่ของหม่าหยินชู

 

ทฤษฎีประชากรใหม่ของหม่าหยินชู

เหวิน เหวิน ณ สวนชั่งชุน
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

  
 

มีคนเคยกล่าวว่า การวิพากษ์วิจารณ์ความผิดพลาดของหม่าหยินชูในทศวรรษที่ 50 คือความเสียใจนิรันดรอันหนึ่งของศตวรรษที่ 20 ของประเทศจีน

หม่าหยินชู เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียง จบการศึกษาเศรษฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา เกิดเมื่อปี 1882 ที่เมืองเส้าซิง มณฑลเจ๋อเจียง (หลู่ซวิ่น นักเขียนนามอุโฆษของจีนก็เกิดที่เมืองนี้) ปี 1949 หลังก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ท่านเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเจ๋อเจียงและมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ตามลำดับ ต้นทศวรรษที่ 50 หม่าหยินชูรับตำแหน่งผู้แทนประชาชน ท่านเดินทางไปตามพื้นที่ต่างๆ ของประเทศเพื่อทำการสำรวจและศึกษาอยู่เสมอ ปี 1954 หม่าหยินชูอยู่ที่เจ๋อเจียงบ้านเกิด พบว่าเด็กๆ ในชนบทมีจำนวนมาก โดยเฉพาะเมื่อเห็นครอบครัวของญาติครอบครัวหนึ่งเด็กโตๆ เล็กๆมีรวมกันถึง 9 คน ท่านรู้สึกลึกๆ ถึงปัญหาประชากรเป็นปัญหาใหญ่ ท่านถือว่า “ ประเทศจีนประชากรมาก ที่ดินมีน้อย ถ้าประชากรยังเพิ่มขึ้นอย่างนี้ ประเทศคงยากที่จะมั่งคั่งและเข้มแข็งได้ ”

ปี 1953 ประชากรจีนมีมากกว่า 600 ล้านคนแล้ว จากการประกาศของรัฐบาลอัตราการเพิ่มประชากรเป็น 20 % แต่จากการสำรวจหลายครั้งและการวิจัยอย่างจริงจังของหม่าหยินชูชี้ให้เห็นว่า อัตราการเพิ่ม 20 % นั้นไม่ถูกต้อง ในความเป็นจริงอัตราการเพิ่มน่าจะอยู่ที่ประมาณ 30 % ท่านถือว่าการเพิ่มของประชากรอย่างรวดเร็วนั้นจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และยังนำมาซึ่งปัญหาสังคมจำนวนมาก ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการควบคุมจำนวนประชากรอย่างมีประสิทธิภาพโดยด่วน

ในการประชุมสมัชชาใหญ่ของผู้แทนประชาชนเดือนมิถุนายน 1955 หม่าหยินชูได้กล่าวถึงความคิดนี้ในการประชุมกลุ่มย่อยที่เจ๋อเจียง แต่ในเวลานั้นมีคนเพียงจำนวนน้อยที่เห็นด้วย คนส่วนใหญ่ได้แต่ส่ายศีรษะหรือไม่ก็ไม่แสดงความเห็นใดๆ และก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่คัดค้านความเห็นของท่านหม่า โดยเชื่อว่าในความจริงแล้วท่านกำลังโฆษณาทฤษฎีประชากรของมัลธัส ( Thomas Robert Malthus คนจีนเรียกว่าหม่าเอ๋อซ่าซือ) หม่าหยินชูใคร่ครวญแล้วว่าสถานการณ์นี้ พูดถึงปัญหานี้ไม่ใคร่เหมาะสม จึงร่างคำกล่าวของตนกลับมา แต่ก็ไม่ได้ล้มเลิกความคิดเห็นของตน ต่อมานอกจากท่านจะทำการสำรวจและวิจัยอย่างต่อเนื่องต่อไปแล้ว ยังค่อยๆ หาคนพูดคุยด้วย โดยคุยถึงความเห็นของตนอย่างอดทนกับเพื่อนและเพื่อนร่วมงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิชาการ ท่านยังเคยพูดติดตลกว่า แซ่ “ หม่า ” ของท่านนั้น ไม่ใช่ “ หม่า ” ของหม่าเอ๋อซ่าซือ (มัลธัส) แต่เป็น “ หม่า ” ของหม่าเค่อซือ (มาร์กซ์)

เข้าสู่ปี 1956 รัฐบาลเริ่มต้นเสนอว่าต้องมีแผนคุมกำเนิด เดือนกุมภาพันธ์ 1957 ในการประชุมระดับชาติ ประธานเหมาเจ๋อตงก็เสนออีกว่า “ มนุษยชาติต้องควบคุมตัวเอง ต้องทำให้ถึงขั้นมีแผนการเพิ่ม ” ในเวลานี้หม่าหยินชูได้เสนอความเห็นของท่านที่มีต่อปัญหาประชากร คำแถลงการณ์ของท่านได้รับการสนับสนุนและยอมรับจากเหมาเจ๋อตง ประธานเหมาพูดอย่างยิ้มแย้มว่า หม่าหยินชูวันนี้พูดได้ดีมาก เดิมความคิดเห็นของท่านไม่สามารถแสดงออกมาได้ เมื่อเตรียมที่จะแสดงก็มีคนคัดค้าน ไม่ยอมให้ท่านพูด วันนี้ในที่สุดได้พูดออกมาอย่างถึงอกถึงใจ หม่าหยินชูชายชราอายุกว่า 75 ปีกว่า พอได้ยินคำพูดของประธานเหมารู้สึกตื่นเต้นมาก ท่านถือว่าเรื่องการแก้ไขปัญหาประชากรนั้นมาถึงจุดสุกงอมแล้ว

ในการประชุมสมัชชาใหญ่ของผู้แทนประชาชนครั้งที่ 4 เดือนมิถุนายน ท่านหม่าได้มอบร่างแถลงการณ์ให้แก่ที่ประชุมฉบับหนึ่ง วันที่ 5 กรกฎาคม หนังสือพิมพ์ประชาชน (เหยินหมินยื่อเป้า)ได้ตีพิมพ์ร่างแถลงการณ์ดังกล่าว นี่ก็คือบทความ “ ทฤษฎีประชากรใหม่ ” อันมีชื่อเสียง ในบทความนั้น เนื้อหาหลักของทฤษฎีประชากรของหม่าหยินชูคือ ควบคุมจำนวนประชากรและยกระดับคุณภาพประชากร

ในประวัติศาสตร์จีนยุคใหม่ ปี 1957กับ “ การต่อต้านฝ่ายขวา ” นั้นเกือบจะเป็นเชื่อมต่อกัน ในเวลาที่หม่าหยินชูกำลังเผยแพร่ทฤษฎีประชากรนั้น การเมืองของจีนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เดือนตุลาคมปีนั้น บทความหนึ่งในหนังสือพิมพ์ประชาชนได้กล่าวเป็นนัยๆ ว่า มีนักเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งเชื่อว่า เพราะว่าประเทศจีนประชากรมาก ทำให้ไม่สามารถทำอุตสาหกรรมหนักได้ เขาพูดถึงนั้นไม่ใช่ปัญหาประชากรแต่อย่างใด กลับเป็นปัญหาการเมืองที่รุนแรงต่างหาก เข้าสู่ปี 1958 บทความวิพากษ์วิจารณ์หม่าหยินชูอย่างเปิดเผยมีมากถึง 80 บท ต่อการ “ วิพากษ์วิจารณ์ ” เหล่านี้ ในช่วงต้นหม่าหยินชูไม่ได้ให้ความสนใจ

แต่การลุกลามของเรื่องราวกลับไม่ง่ายอย่างที่ท่านคาดคิด เดือนเมษายน 1958 ในบทความเรื่องแนะนำ สหกรณ์แห่งหนึ่ง เหมาเจ๋อตงได้ชี้ว่า “ ... ... นอกจากผู้นำของพรรคแล้ว ประชาชนจำนวน 600 ล้านคนก็เป็นปัจจัยชี้ขาดปัจจัยหนึ่ง คนมากข้อคิดเห็นก็มาก ความเร่าร้อนสูง ความฮึกเหิมในการทำงานมาก ” ประชาชนเมื่ออ่านถึงตอนนี้ ก็มีความรู้สึกอย่างหนึ่งว่า หม่าหยินชูกับทฤษฎีประชากรใหม่ เกรงว่าน่ามีปัญหาเสียแล้ว ที่คิดไว้ก็เป็นจริงขึ้นมา เดือนพฤษภาคมการประชุมส่วนกลางเริ่มต้นขึ้น ในการรายงาน มีการวิพากษ์วิจารณ์ทฤษฎีประชากรใหม่ของหม่าหยินชูว่าเป็นทัศนะที่ต่อต้านลัทธิมาร์กซ์และเลนิน หลังฤดูใบไม้ร่วงปี 1959 การวิพากษ์วิจารณ์หม่าหยินชูยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ในเวลานั้น เพื่อนๆ จำนวนหนึ่งที่เป็นห่วงได้ไปพบท่านหม่า แนะนำไม่ให้ยืนกราน ยอมรับความผิดก็แล้วกัน ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลต่อฐานะทางการเมืองของท่าน แต่หม่าหยินชูถือว่า ความจริงสำคัญกว่าฐานะมากนัก ในช่วงเวลา 2 ปี ท่านได้เขียนบทความสิบกว่าเรื่อง เพื่อแสดงท่าทีและปกป้องความคิดเห็นของตน

เข้าสู่ปี 1960 หม่าหยินชูก็ไม่สามารถดำรงชีวิตและทำงานอย่างปกติได้อีกต่อไป ท่านจำเป็นต้องลาจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ลาออกจากตำแหน่งผู้แทนประชาชน หลังจากนั้นเป็นเวลาสิบกว่าปี ชื่อของหม่าหยินชูและทฤษฎีประชากรใหม่ของท่านดูเหมือนจะถูกลืมเลือนไป ประชาชนกำลังยุ่งอยู่กับ “ การปฏิวัติวัฒนธรรม ” แต่ก็ในช่วงเวลาสิบกว่าปีนี้เองที่ประชากรจีนเพิ่มขึ้นอีกหลายร้อยล้านคน

วันที่ 11 กันยายน 1979 “ ปัญหาทางการเมือง ” ของหม่าหยินชูในที่สุดได้รับการพลิกคำตัดสิน ประวัติ-ศาสตร์ได้ยืนยันแล้วว่า ชายชราที่ไม่ยอมรับ “ ความผิด ” ท่านนี้ได้รับชัยชนะแล้ว

ในปีนั้น หม่าหยินชูอายุ 97 ปี ประชากรจีนมีเกือบ 1 พันล้านคน

 

หมายเหตุ สถิติจำนวนประชากรจีน

ปี 1684         100      ล้าน

ปี 1762        200.47   ล้าน

ปี 1790        300       ล้าน

ปี 1834        400       ล้าน

ปี 1861        267       ล้าน

ปี 1949        540       ล้าน

ปี 1954        600       ล้าน

ปี 1964        700       ล้าน

ปี 1968        800       ล้าน

ปี 1982        1000     ล้าน

ปี 1989        1100     ล้าน

ปี 1995        12.11    พันล้าน

ปี 1999        12.59    พันล้าน

ประมาณการ

ปี 2010         1.4       พันล้าน

ปี 2030         1.5       พันล้าน

เรียบเรียงจากหนังสือ Spotlight on China

Date

30 มิถุนายน 2564

Tags

คอลัมน์ประจำ